ฮือฮา! นักวิทย์ตรวจพบ ‘คลื่นความโน้มถ่วง’ครั้งที่ 2
ทีมนักวิทยาศาสตร์โครงการไลโก ตรวจพบคลื่นความโน้มถ่วงเป็นครั้งที่ 2 แล้ว เพียง 4 เดือนหลังจากการประกาศการค้นพบคลื่นนี้ครั้งแรกเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ หอสังเกตการณ์คลื่นความโน้มถ่วงโดยใช้อินเตอร์เฟอโรมิเตอร์ชนิดเลเซอร์ หรือ ไลโก (Laser Interferometer Gravitational-Wave Observatory: LIGO) ยืนยันในวันพุธที่ 15 มิ.ย. ว่า พวกเขาตรวจพบคลื่นความโน้นถ่วง ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของหลุมดำ 2 ดวงในอวกาศเป็นครั้งที่ 2 แล้ว หลังจากยืนยันการค้นพบครั้งแรกไปเมื่อ 11 ก.พ.
ทั้งนี้ คลื่นความโน้มถ่วง หรือ คลื่นที่ทำให้เกิดการกระเพื่อมของปริภูมิ-เวลา (space time) ซึ่งอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ คาดการณ์เอาไว้ใน ‘ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป’ (General relativity) เมื่อปี 1915 โดยเป็นคลื่นที่ปลดปล่อยออกมา เมื่อวัตถุที่มีมวลมากเคลื่อนที่ด้วยความเร่งสูงหรือมีกิจกรรมรุนแรงในอวกาศ เช่น ดาวนิวตรอนคู่หรือหลุมดำคู่โคจรรอบกัน, ซุปเปอร์โนวา, รังสีแกมมาระเบิดในอวกาศ เป็นต้น ซึ่งตามทฤษฎีแล้ว ปรากฏการณ์เหล่านี้จะทำให้เกิดคลื่นความโน้มถ่วงแผ่ออกไปในอวกาศ และเมื่อมันเคลื่อนผ่านวัตถุใดก็จะทำให้วัตถุนั้นยืดออกและหดเข้าสลับกัน
การค้นพบครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. ปี 2015 ในเวลา 03:38 น. ตามเวลามาตรฐานสากล โดยหอไลโกทั้ง 2 แห่งที่เมืองลิฟวิงส์ตัน รัฐลุยเซียนา และที่เมืองแฮนฟอร์ด รัฐวอชิงตัน ซึ่งบริหารโดย สถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย (Caltech) และ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) สามารถตรวจจับคลื่นนี้ได้ แต่หอฯที่ลิฟวิงตันตรวจจับได้ก่อนประมาณ 1.1 มิลลิวินาที (หนึ่งในพันของวินาที) จากการตรวจสอบของนักวิทยาศาสตร์ คลื่นความโน้มถ่วงที่ตรวจจับได้เป็นครั้งที่ 2 นี้ เกิดขึ้นในช่วงการโคจรรอบกัน 27 รอบสุดท้ายของหลุมดำ 2 ดวงที่มวลมากกว่าดวงอาทิตย์ของเรา 14 และ 8 เท่า เมื่อราว 1,400 ล้านปีก่อน ก่อนที่พวกมันจะรวมกันเป็นหลุมดำดวงเดียวที่มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ 21 เท่า โดยระหว่างการรวมตัวมันได้ปลดปล่อยพลังงานปริมาณเท่าๆ กับมวลของดวงอาทิตย์กลายเป็นคลื่นความโน้มถ่วง
ศ.กาบริเอลา กอนซาเลซ โฆษกกลุ่มความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ไลโก (แอลเอสซี) และศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์และดาราศาสตร์ของมหาวิทยาลัยรัฐลุยเซียนา กล่าวว่า การค้นพบครั้งนี้มีนัยสำคัญคือ หลุมดำทั้งสองมามวลน้อยกว่าหลุมดำที่พบในการค้นพบคลื่นความโน้มถ่วงครั้งแรก และเพราะมวลที่น้อยกว่าของพวกมัน ทำให้คลื่นใช้เวลาอยู่ในแขนของไลโกนานกว่าเดิม ประมาณ 1 วินาที ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการจัดทำแผนที่ประชากรหลุมดำในจักรวาลของเรา
ขณะที่ ศ.ฟิลวิโอ ริชชี นักฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัยซาปิเอนซา แห่งกรุงโรม อิตาลี และโฆษกกลุ่มความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์เวอร์โก (วีซี) กล่าวว่า ในอนาคตอันใกล้ เวอร์โก (Virgo) เครื่องอินเตอร์เฟอโรมิเตอร์ในยุโรป จะเข้าร่วมขยายเครือข่ายอุปกรณ์ตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วงอื่นๆ ซึ่งทำงานร่วมกับกล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นที่ติดตามสัญญาณดังกล่าว และเมื่อรวมเครื่องอินเตอร์เฟอโรมิเตอร์ 3 เครื่องเข้าด้วยกัน (ไลโก 2, เวอร์โก 1) จะทำให้สามารถระบุตำแหน่งที่มาของคลื่นความโน้มถ่วงในอวกาศได้ดีขึ้นมาก