ติดตามขยะอวกาศ
ลำพังจำนวนขยะบนโลกของเราทุกวันนี้ ก็เป็นปัญหาหนักอกหนักใจอยู่แล้ว หลายประเทศหลายภาคส่วน ก็พยายามแก้ปัญหากันมาอย่างต่อเนื่อง แต่ในอวกาศรอบโลกก็ยังเต็มไปด้วยขยะเช่นกัน ขยะเหล่านี้คือเศษซากชิ้นส่วนที่หลุดออกมาจากจรวด ยานอวกาศ ดาวเทียม รวมถึงชิ้นส่วนยานอวกาศที่หมดอายุการใช้งาน แต่ยังคงล่องลอยโคจรรอบโลก แม้ว่าถูกยุติการทำงานไปนานแล้ว
มีข้อมูลระบุว่าวัตถุประมาณ 500,000 ชิ้นกำลังโคจรอยู่รอบโลก โดยขนาดและชนิดของวัตถุเหล่านั้นมีตั้งแต่สกรูแบบเดี่ยว ไปจนถึงถังเชื้อเพลิงของจรวด ขยะอวกาศพวกนี้เป็นภัยต่อการเดินทางของจรวด ยานอวกาศ และดาวเทียม ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการชนกัน
ล่าสุด ทีมนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยอวกาศแห่งออสเตรีย ออกมาให้ข่าวชวนดีใจว่า พวกเขาค้นพบวิธีตรวจจับเศษซากขยะอวกาศแม้จะเป็นเวลากลางวันก็ยังตรวจจับได้ ซึ่งอาจช่วยให้ดาวเทียมสามารถหลบเลี่ยงกองขยะที่โคจรรอบโลกเหล่านี้
ทีมเผยว่าอาศัยการใช้เลเซอร์ที่เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ในการตรวจจับซากขยะจากพื้นดิน แต่จนถึงทุกวันนี้วิธีใช้งานแสงเลเซอร์นั้นทำได้เพียงไม่กี่ชั่วโมงในช่วงเวลาพลบค่ำ ทีมจึงคิดว่าน่าจะขยายวิธีมองเห็นขยะอวกาศโดยใช้การผสมผสานระหว่างเครื่องขยายมุมมองและตัวกรองแสง เพื่อเพิ่มความคมชัดของวัตถุที่ปรากฏบนท้องฟ้าในตอนกลางวัน
นอกจากนี้ พวกเขายังพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ตรวจจับเป้าหมายแบบเรียลไทม์หรือตามเวลาจริง ที่จะทำนายอย่างแม่นยำว่าเมื่อใดที่วัตถุบางอย่างจะสังเกตได้ โดยรวมแล้วเทคนิคที่คิดค้นขึ้นใหม่นี้สามารถเพิ่มเวลาในการสังเกตการณ์กองขยะนอกโลกได้ถึง 6-22 ชั่วโมงต่อวัน
เชื่อว่านี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นในการเพิ่มกำลังการผลิตของเลเซอร์เพื่อใช้ตรวจจับขยะอวกาศในอนาคตอันใกล้ และอาจมีส่วนสำคัญในการปรับปรุงการทำนายวงโคจร โดยเฉพาะการเตือนการชน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อภารกิจต่างๆในอวกาศ.