นักวิทยาศาสตร์พลเมืองพบดาวแคระน้ำตาล
ดาวแคระน้ำตาลเป็นวัตถุที่เปล่งแสงออกมาจางๆจนดูริบหรี่มาก ซึ่งดาวแคระน้ำตาลมีมวลไม่เพียงพอที่จะเป็นดาวฤกษ์ได้ หรือจะกล่าวได้ว่า ใจกลางของดาวแคระน้ำตาลมีอุณหภูมิและความดันไม่มากพอที่จะจุดปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันขึ้นมาได้ วัตถุที่เป็นดาวแคระน้ำตาลจะมีมวลอยู่ระหว่างดาวเคราะห์แก๊สยักษ์ที่ใหญ่ที่สุด กับดาวฤกษ์ที่มีมวลน้อยสุด ซึ่งตรงกับช่วงค่ามวลระหว่าง 12 – 75 เท่าของมวลดาวพฤหัสบดี ขณะที่ดาวแคระน้ำตาลส่วนใหญ่ถูกพบว่าโคจรรอบดาวฤกษ์ดวงอื่น แต่ดาวแคระน้ำตาลบางดวงเคลื่อนที่ไปอย่างโดดเดี่ยวในห้วงอวกาศ
วัตถุประเภทนี้ก่อตัวขึ้นมาด้วยวิธีเดียวกันกับการก่อตัวของดาวฤกษ์ แต่ดาวแคระน้ำตาลจะเปล่งแสงที่มีสีออกไปทางสีน้ำตาล เนื่องจากพลังงานความร้อนที่เกิดขึ้นจากการปะทะกันระหว่างวัสดุภายในตัวดาว
โครงการวิทยาศาสตร์ของพลเมืองหรือการที่ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสช่วยงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์หลายแขนงเป็นงานอาสาสมัครที่มีกระแสแรงไม่น้อยในปัจจุบัน พวกเขาถูกเรียกว่านักวิทยาศาสตร์พลเมือง (Citizen scientists) หลายคนทำผลงานได้น่าทึ่ง เมื่อเร็วๆนี้ อาสาสมัครของแบล็กยาร์ด เวิลด์ส : พลาเน็ต ไนน์ (Backyard Worlds : Planet 9) เป็นโครงการวิทยาศาสตร์พลเมืองที่ได้รับทุนจากองค์การนาซา มีจุดมุ่งหมายค้นหาดาวแคระน้ำตาลใหม่ๆ เผยว่าจากการใช้บริการหอดูดาวเคค (W. M. Keck Observatory) ในฮาวาย ทำให้ค้นดาวเคราะห์เย็นใกล้ดวงอาทิตย์ประมาณ 100 ดวง ดาวเคราะห์เย็นที่ค้นพบใหม่หลายดวงมีอุณหภูมิใกล้เคียงกับโลก แต่มีเพียงไม่กี่ดวงที่เย็นพอจะกักเก็บเมฆน้ำได้ และพบวัตถุมีขนาดใหญ่กว่าดาวเคราะห์ แต่เบากว่าดาวฤกษ์ ซึ่งก็คือดาวแคระน้ำตาล
ดาวเคราะห์เย็นจัดว่าเป็นตัวที่ให้ข้อมูลเชิงลึกใหม่ๆ เกี่ยวกับการก่อตัวและชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ส่วนดาวแคระน้ำตาลที่มีความเย็นนั้น จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ประเมินจำนวนของดาวเคราะห์เย็นที่ลอยอยู่อิสระและโคจรไปมาในอวกาศระหว่างดวงดาวที่ใกล้ดวงอาทิตย์ได้อย่างแม่นยำ รวมถึงอาจไขความลับของจักรวาลช่วงที่ดาวฤกษ์ยุคต้นก่อกำเนิดได้.