จีนส่งยาน ‘ฉางเอ๋อ 5 ‘ไปดวงจันทร์จีนส่งยาน ‘ฉางเอ๋อ 5 ‘ไปดวงจันทร์ เก็บตัวอย่างดินเหินกลับมาศึกษาที่โลก
จีนสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ส่งยาน “ฉางเอ๋อ 5” ไปเก็บก้อนหินบนดวงจันทร์กลับมาศึกษาที่โลก นับเป็นภารกิจกลับไปเก็บตัวอย่างบนดวงจันทร์ครั้งแรกของโลกในรอบกว่า 40 ปี
เมื่อวันที่ 24 พ.ย. สำนักข่าว CGTN รายงานว่า เมื่อเวลา 03.35 น. ที่ผ่านมา จีนประสบความสำเร็จในการปล่อยจรวด “ลอง มาร์ช 5” (Long March-5) บรรทุกยานไร้คนขับ “ฉางเอ๋อ 5” (Chang’e-5) ขึ้นจากฐานปล่อยจรวดเหวินฉาง มณฑลไหหลำ มุ่งหน้าไปดวงจันทร์ เพื่อใช้แขนกลทำการขุดดินลึกลงไป 2 เมตรแล้วเก็บตัวอย่างดิน และก้อนหินน้ำหนักอย่างน้อย 2 กิโลกรัมขึ้นมา เพื่อนำกลับมาศึกษาที่โลก โดยยานฉางเอ๋อ 5 จะไปลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ในวันที่ 27 พ.ย. และคาดว่าจะกลับถึงโลกประมาณวันที่ 16-17 ธ.ค.นี้
การศึกษาดินและก้อนหินจากดวงจันทร์ จะทำให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจสภาพแวดล้อม อายุขัย ตลอดจนทรัพยากรธรรมชาติบนดวงจันทร์มากขึ้น โดยนับเป็นภารกิจการเก็บตัวอย่างจากดวงจันทร์กลับโลกเป็นครั้งแรกของจีน เนื่องจากก่อนหน้านี้มีเพียงสหรัฐฯ และอดีตสหภาพโซเวียตที่เคยทำสำเร็จ และนับเป็นครั้งแรกของโลกในรอบกว่า 40 ปี นับตั้งแต่ยาน “ลูน่า 24” (Luna24) ของอดีตสหภาพโซเวียต ไปเก็บตัวอย่างดินและหินบนดวงจันทร์กลับมา 170.1 กรัม เมื่อปี 2519
หากจีนประสบความสำเร็จกับภารกิจของยาน “ฉางเอ๋อ 5” ครั้งนี้ จะนับเป็นก้าวสำคัญของโครงการสำรวจอวกาศอันยิ่งใหญ่ของจีนที่วางไว้ 4 เฟส โดยในเฟสแรกที่ทำสำเร็จแล้ว คือการไปโคจรรอบดวงจันทร์ กับยาน “ฉางเอ๋อ 1” เมื่อปี 2550 และครั้งที่ 2 กับยาน “ฉางเอ๋อ 2” เมื่อปี 2553
ขณะที่เฟส 2 ก็สำเร็จเรียบร้อยแล้วนั่นคือการไปลงจอดและสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์กับยาน “ฉางเอ๋อ 3” เมื่อปี 2556 และ “ฉางเอ๋อ 4” ที่ไปลงจอดด้านไกลของดวงจันทร์สำเร็จ เมื่อเดือน ม.ค. 2562 ส่วนครั้งนี้คือภารกิจในเฟส 3 แล้วกับการไปเก็บตัวอย่างดินและหินบนด้านใกล้ของดวงจันทร์ แล้วนำกลับมายังโลก ภารกิจต่อไปของจีนคือการเก็บตัวอย่างจากดวงจันทร์ครั้งที่ 2 กับยาน “ฉางเอ๋อ 6” ที่กำหนดไว้ในปี 2566 และก้าวต่อไปกับเฟส 4 คือ การสร้างสถานีวิจัยวิทยาการหุ่นยนต์บริเวณใกล้ขั้วใต้ของดวงจันทร์