ในที่สุด “ดาวอังคาร” ก็ได้ต้อนรับ 3 อาคันตุกะจากโลกของเรา ออกเดินทางตั้งแต่เดือน ก.ค.ปีที่แล้ว ใช้เวลาเพียง 7 เดือน เริ่มจาก ยานโฮป ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ต่อด้วย เทียนเหวิน–1 ของจีน และตามรั้งท้ายก็คือยานสำรวจ เพอร์เซเวียแรนซ์ ชื่อเล่น “เพอร์ซี” ขององค์การนาซา แห่งสหรัฐอเมริกา
วันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา จึงได้กลายเป็น วันแห่งประวัติศาสตร์ของวงการอวกาศสหรัฐฯ อีกครา หลังจากยานมูลค่า 2,700 ล้านดอลลาร์ฯ หรือราว 800,000 ล้านบาท ของพวกเขาลงจอด บนดาวอังคารได้สำเร็จ ซึ่งด้วยความที่เจนภารกิจ บนดาวอังคารมายาวนาน อีกทั้งยังมีเครื่องมือสุดไฮเทคของนาซาคือยานหุ่นยนต์โรเวอร์ คิวริออสซิตี วิ่งสำรวจอยู่ตรง หลุมอุกกาบาตเกล ดังนั้น เพอร์เซเวียแรนซ์จึงไม่ต้องรีรออยู่ในวงโคจรนาน แต่เคลื่อนที่อย่างทรงพลังตรงไปยังพื้นผิวดาวเลยด้วยความเร็วมากว่า 19,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จุดหมายก็คือแอ่งเยเซโร ซึ่งเคยเป็นทะเลสาบโบราณบนดาวเคราะห์สีแดง
การลงจอดของยานเพอร์ซีนับว่าเป็นช่วง เวลาสุดลุ้นระทึก เนื่องจากยานต้องจัดการการ ลงจอดทั้งหมดด้วยตัวเอง สัญญาณวิทยุจะใช้เวลา 11 นาที ในการเดินทางจากดาวอังคารมายังโลก นั่นหมายความว่าหากมีอะไรผิดพลาด ก็สายเกินกว่า ที่ทีมงานในศูนย์ปฏิบัติภารกิจของนาซาจะรับรู้
เพอร์เซเวียแรนซ์ มีความหมายว่า “ความเพียร” เป็นยานหุ่นยนต์โรเวอร์ที่ติดตั้งชุดเครื่องมือ ทางวิทยาศาสตร์สุดซับซ้อน โดยเฉพาะเก็บมาร์ส เฮลิคอปเตอร์ “อินเจนูอิตี” (Ingenuity) ไว้ที่ ท้องและจะปล่อยออกมาเพื่อทดสอบการควบคุมการบินบนดาวเคราะห์ดวงอื่น หากการทดสอบประสบความสำเร็จก็สามารถปูทางไปสู่อนาคตของเครื่องมือเรียกว่า มาร์สคอปเตอร์ส (Marscopters) ที่มีขนาดใหญ่กว่า
นอกจากจะบรรทุกเครื่องมือสุดล้ำ เพอร์ซี ยังแบกความหวังของมนุษยชาติไปด้วย ที่แน่ๆ คือใครที่ลงชื่อในแคมเปญ “Send Your Name to Mars” ของนาซาเมื่อปีที่แล้ว ก็ใจพองโต ได้ว่าถึงตัวจะอยู่บนโลก แต่ชื่อของเราไปอยู่ไกล ถึงดาวอังคารโน่น ซึ่งแคมเปญนี้มีผู้ลงทะเบียนฝากชื่อจากทั่วโลกมากกว่า 10 ล้านคน
ภารกิจของเพอร์ซีคือการสำรวจดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำของแม่น้ำที่เคยไหลลงสู่ ทะเลสาบแห่งนี้ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ากองตะกอนที่นี่มีแนวโน้มรักษาสัญญาณทางเคมีของฟอสซิลจุลินทรีย์บนดาวอังคารไว้มาจนถึงปัจจุบัน ยานจะรวบรวมชุดตัวอย่างหินและดินนำกลับสู่โลก สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวเฉลยไขว่าครั้งหนึ่งเคยมีชีวิตอยู่บนดาวอังคารหรือไม่…และคำตอบที่เรารอคอยก็คือรางวัลแห่งความพากเพียร